แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์

        

ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์

  ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์

   องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

  ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์

  การประเมินความฉลาดทางอารมณ์และประสิทธิภาพของอารมณ์

   การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

หน้าหลักสืบค้น

 

               ความฉลาดทางอารมณ์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอีคิว  มีผู้ให้ความหมายไว้หลายคนด้วยกันดังนี้
            Bar-on  (อ้างถึงใน วีระวัฒน์  ปันนิตามัย,  2542,  หน้า 30)  ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า  เป็นชุดของความสามารถส่วนตัวด้านอารมณ์  และด้านสังคมของบุคคลที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเขาในการต่อกรกับข้อเรียกร้อง  และแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทั้งหลายได้เป็นอย่างดี


            Salovey and Mayer  (อ้างถึงใน  กระทรวงสาธารณสุข,  กรมสุขภาพจิต,  2544,  หน้า 10)  กล่าวว่า  ความฉลาดทางอารมณ์  เป็นความฉลาดทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น  สามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิด และกระทำสิ่งต่าง ๆ

             กระทรวงสาธารณสุข,  กรมสุขภาพจิต (2544,  หน้า 26)  ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า  ความสามารถในการรับรู้และแสดงออกทางอารมณ์  รวมทั้งคุณลักษณะทางอารมณ์ที่เหมาะสมกับวัยและสังคม

            แสงอุษา  โลจนานนท์  และกฤษณ์  รุยาพร  (2544,  หน้า  15-16)  ได้ให้คำแปลเป็นภาษาไทยของคำว่า  EQ  ว่าคือการบริหารอารมณ์  ซึ่งก็คือ  ความสามารถของบุคคลในการตระหนักถึงการใช้ปัญญากำกับอารมณ์ของตนเองและการใช้ปัญญาในการบริหารอารมณ์ของผู้อื่น  โดยในส่วนของความสามารถในการใช้ปัญญากำกับอารมณ์ของตนเอง หมายรวมถึงความสามารถในการรับรู้เข้าใจสามารถคุมและสร้างแรงกระตุ้นจากภายในให้กับตัวเองเพื่อให้เกิดเป็นแรงจูงใจในการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมถูกกับกาลเทศะและถูกทำนองคลองธรรม  พร้อมทั้งมีความสามารถในการแสดงออก ซึ่งอารมณ์ของตนเอง  ได้อย่างเหมาะสมถูกกับกาลเทศะเช่นกัน  ในส่วนของการใช้  ปัญญากำกับอารมณ์ของผู้อื่นหมายรวมถึง  การเห็นใจผู้อื่นสามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น  ให้กำลังใจตลอดจนมีความสามารถในการบริหารอารมณ์ของผู้อื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

             นงพงา  ลิ้มสุวรรณ  (2547,  หน้า 198)  กล่าวว่า  อีคิว  เป็นคำค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับไอคิว แต่อีคิวสามารถดึงดูดความสนใจคนได้มาก  ทำให้คนหันมาสนใจคุณสมบัติเรื่องอีคิวของคนอย่างมาก  อีคิวเป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Emotional quotient และย่อว่า EQ  ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอเมริกันเช่นกันชื่อ Daniel Goleman  เขียนเมื่อปี  ค.ศ.1995
อีคิว  นั้นหมายถึงความสามารถของคนด้านอารมณ์  จิตใจ  และยังรวมถึงทักษะการเข้าสังคมด้วย  แต่คนทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ซาบซึ้งนักว่าวุฒิภาวะทางอารมณ์นั้นหมายถึงอะไร  จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก  จนกระทั่งคำว่าอีคิวเกิดขึ้น  จึงเป็นคำที่ติดตลาดเหมือนคำว่าไอคิว  คนจึงหันมาสนใจและให้ความสำคัญขึ้นอย่างมาก  ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีทีเดียว

            อีคิว  หมายถึง ความสามารถด้านต่าง ๆ ทางจิตใจ  อารมณ์  และสังคมหลายด้าน
เทอดศักดิ์  เดชคง  (2547ก,  หน้า 39)  ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า คือ ความสามารถของบุคคลในการนำไปสู่การเป็นคนดี  มีคุณค่า และมีความสุข คำว่า  เป็นคนดี  รวมความหมายของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ซึ่งก็คือความเมตตากรุณา  ในแง่ของพุทธศาสนา  ส่วนนี้ก็คือ “ศีล”  ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลามนุษย์นั่นเอง  มีคุณค่านั้นสอดคล้องกับการมีสติรู้ตัว (awareness)  ส่วนการมีความสุข  เกิดจากการมองโลก  เพื่อหาความสุขใส่ตัวเมื่อเกิดความทุกข์ก็หาวิธีแก้ไข  อันนี้คล้ายกับการใช้ “ปัญญา”  ความฉลาดทางอารมณ์ในความหมายนี้  จะเน้นที่ความพึงพอใจ     โดยไม่ได้ไปจำกัดว่าจะต้องทำให้ได้เป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์  มีชื่อเสียง  หรือมีเงินทองมากมาย

             จากความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ดังกล่าว  สรุปได้ว่า  ความฉลาดทางอารมณ์  คือ  การที่บุคคลสามารถรับรู้และแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัยและสังคม  ซึ่งนำไปสู่การเป็นคนดี  มีคุณค่า และมีความสุข


       

 

 

อ้างอิงจาก

วีระวัฒน์  ปันนิตามัย. (2542). เชาวน์อารมณ์ (EQ): ดัชนีวัดความสุข  และความสำเร็จ ของชีวิต (พิมพ์ครังที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานพิมพ์ เอ็กซ์เปอร์เน็ต.

กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต. (2544). รายงานวิจัยการพัฒนาแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับประชาชนไทย  อายุ 12-60 ปี.นนท์บุรี : สำนักพิมพ์วงศ์กมลโปรดักชั่น.

แสงอุษา  โลจนานนท์  และกฤษณ์  รุยาพร. (2544). EQ with Thai SMILE การบริหารอารมณ์ด้วยรอยยิ้มแบบไทยๆ (พิมพ์ครั้งที่ 6).
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มิตรนราการพิมพ์.

นงพงา  ลิ้มสุวรรณ. (2547).  เลี้ยงลูกถูกวิธี  ชีวีเป็นสุข (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์แปลนพริ้นติ้งเพลส.

เทอดศักดิ์  เดชคง. (2547ข).  ความฉลาดทางอารมณ์สู่สติและปัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน.